แบกปัญหา หาบภาระ : ผลกระทบวิกฤตค่าครองชีพต่อแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานคร
ข้อมูลจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ ในรายงานสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของวิกฤตค่าครองชีพที่มีต่อแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานคร โดยมีผลการศึกษาที่สำคัญดังนี้ :
ปัญหาในการประกอบอาชีพ: ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลต่อค่าครองชีพและรายได้ของแรงงาน ทำให้หลายคนต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานให้นานขึ้น เพื่อหารายได้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และพยายามไม่ก่อหนี้สินเพิ่ม
ค่าอาหารเพิ่มสูงขึ้น: แรงงานจากกลุ่มตัวอย่าง มีรายจ่ายด้านอาหารโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 56 ของรายได้ เมื่อเทียบกับต้นปี 2566 พบว่าแรงงาน 7 ใน 10 คน มีรายจ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2566 และ 1 ใน 3 (ร้อยละ 33) มีรายจ่ายด้านอาหารเกินร้อยละ 75 ของรายได้ ส่งผลให้ต้องลดปริมาณการบริโภคทั้งระดับบุคคลและครัวเรือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการทั้งในระสั้นและระยะยาวได้
แรงกดดันด้านค่าครองชีพ: แรงงานมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน และค่าเดินทาง
วิกฤตหนี้สิน: ในช่วงปีที่ผ่านมา เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานในกลุ่มตัวอย่างมีการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในด้านต่างๆ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ ค่าเช่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน และค่าสาธารณูปโภค โดยมีวงกู้ยืมต่อราย 3,000-200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1-20 บาท ต่อเดือน โดยส่วนใหญ่มาจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ
อุปสรรคและการปรับตัวด้านเทคโนโลยี: แรงงานบางส่วนใช้เครื่องมือดิจิทัลพื้นฐานเพื่อช่วยในการประกอบอาชีพ เช่น การชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด และช่องใช้ทางออนไลน์เพื่อขายและแนะนำสินค้าและบริการ ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างและผู้ค้าหาบเร่แผงลอยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากบริการออนไลน์ อาทิ แอปพลิเคชั่นเรียกรถ และร้านค้าปลีกออนไลน์ แรงงานสูงอายุจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถปรับตัวได้ในยุคดิจิตอล
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: แรงงานมองว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยระบุว่า ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และอากาศร้อนจัด ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า เนื่องจากวัตถุดิบมีราคาแพงขึ้น แผงค้าเสียหายและยอดขายลดลง ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนใหญ่สนใจเปลี่ยนไปใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แต่ติดปัญหาที่ราคาสูง
ความต้องการเร่งด่วน: แรงงานต้องการนโยบายเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการสร้างอาชีพ โดยเฉพาะ ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด นโยบายคุ้มครองทางสังคมที่สร้างหลักประกันความเท่าเทียมแก่แรงงานนอกระบบ โดยการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้เพียงพอ และลดขั้นตอนการลงทะเบียนให้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนควรให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียง และส่งเสริมให้ตัวแทนของแรงงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกระบวนการเจรจาทางสังคม
This Policy Brief is also available in English.
View list of all: Policy Briefs
Download the PDF(this link opens in new window)